Tokyo SME Support Center「สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะทำอะไรให้กับประเทศไทยได้บ้าง?」 Kimura Masayuki

「สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะทำอะไรให้กับประเทศไทยได้บ้าง?」

《โปรไฟล์》
Head of Thailand Branch Office
Kimura Masayuki
คิมูระ มาซายูกิ
■เกิดปีพ.ศ.2512 เกิดที่จังหวัดชิซูโอกะ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Rikkyo แล้วได้เข้าทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จนเมื่อปีพ.ศ.2551 ได้เข้าทำงานที่ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกรุงโตเกียว (Tokyo SME Support Center) โดยได้อยู่ในฝ่ายวางแผนช่วยเหลือธุรกิจ SME หลังจากนั้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 คุณคิมูระเข้ามารับผิดชอบในด้านการช่วยเหลือเกี่ยวกับช่องทางการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ และได้รับมอบหมายให้มาทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีพ.ศ.2561 โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจ SME
■หนังสือเล่มโปรด: Tai no rekishi hohoemi no kuni no shinjitsu
■บุคคลที่นับถือ: คุณพ่ออายุ 89 ปีที่ปัจจุบันยังคงทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน
■งานอดิเรก: เล่นเทนนิส, ตีกอล์ฟ, ดีดนิ้ว
■ร้านที่มักจะไปเป็นประจำในกรุงเทพฯ: ร้านสบายใจไก่ย่าง
■แบรนด์กระเป๋าที่ชื่นชอบ: JEFF BANKS
■รุ่นรถยนต์ที่ชื่นชอบ: Toyota Ventury


เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วนับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานในปีพ.ศ.2558

ผ่านมา 5 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่เราก่อตั้งสำนักงานในต่างประเทศแห่งแรกของศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกรุงโตเกียว (หรือโตเกียว SME)

เราได้ให้การสนับสนุนทั้งบริษัทญี่ปุ่นทั่วไปและบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย หากพูดให้เห็นภาพชัด ๆเลยก็คือ เราเน้นให้คำปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจเป็นหลัก ในการให้คำปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจ เราจะมีทนายความ นักบัญชีและเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจมาให้คำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

ในส่วนของการจับคู่ธุรกิจนั้น จุดเด่นของเราคือการสนับสนุนในเรื่องข้อตกลงอย่างละเอียดรอบคอบโดยหลังจากที่ฟังความต้องการของลูกค้าอย่างละเอียดแล้ว พนักงานของเราจะทำการตรวจสอบเพื่อหาธุรกิจที่มีคุณสมบัติตรงกันมากที่สุดก่อนจะจับคู่ธุรกิจนั้นเข้าด้วยกันเป็นลำดับสุดท้าย

อย่างที่ทราบกันดีว่าบริษัท SME ญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยส่วนใหญ่จะให้พนักงานญี่ปุ่น 1 คน รับผิดชอบพนักงานชาวไทยหลายสิบคนหรือหลายร้อยคน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้บริหารชาวญี่ปุ่นในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสบการณ์บริหารงานที่ญี่ปุ่นหรือไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างการจัดการทั่วไป การบัญชี และด้านกฎหมาย ไม่เข้าใจวิธีการทำงานจึงทำให้เกิดความสับสนขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการธุรกิจในต่างประเทศ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 5 ปี มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสนับสนุนธุรกิจอย่างไรบ้าง?

ในระหว่างที่ให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนบริษัท SME ญี่ปุ่นจำนวนมากในประเทศไทยทำให้ผมเห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง

สิ่งแรกเลยคือพื้นฐานทางธุรกิจ หากคุณมีสินค้าหรือบริการที่จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาสังคมที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ได้สิ่งนั้นจะเป็นที่ต้องการในทันที อีกทั้งสิ่งที่ชาวต่างชาติอย่างพวกเราลืมไม่ได้เลยคือ “ประเทศไทยให้ที่อยู่อาศัยแก่เรา”

เพราะฉะนั้น “การทำความเข้าใจกับปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือสังคมไทย” จึงเป็นสิ่งสำคัญ

แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายของโตเกียว SME คือบริษัท SME ญี่ปุ่นและโตเกียว แต่เนื่องจากเราได้รับการดูแลอย่างดีจากชาวไทย บริษัทไทย รวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เราจึงพยายามทำความเข้าใจว่าคนไทยกำลังคิดอะไรอยู่ มีเรื่องกังวลอะไร หรืออยากที่จะทำอะไร

เพื่อที่จะกลับมาคิดว่า บริษัทญี่ปุ่นสามารถ “ทำอะไรได้บ้าง?”

ดังนั้นด้วยวิธีคิดที่จริงใจแบบนี้ เราจึงเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนธุรกิจ SMEของญี่ปุ่นและโตเกียวจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นได้

โปรดอธิบายเกี่ยวกับการสนับสนุนให้เราเห็นภาพมากยิ่งขึ้นหน่อยครับ

ที่โตเกียว SME เราดำเนินการจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทไทยโดยมุ่งเน้นที่ธุรกิจการผลิตอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย

โดยปกติแล้วการจับคู่ธุรกิจในลำดับแรกมักเริ่มจากการรับฟังความต้องการของบริษัทญี่ปุ่นก่อน จากนั้นจึงมองหาบริษัทไทยที่เข้ากันได้กับบริษัทนั้น ๆ แต่ว่าเราทำตรงกันข้ามกันครับ

ก่อนอื่น เราจะไปเยี่ยมเยียนบริษัทของไทยและรับฟังเรื่องราวของพวกเขา เราได้รับฟังพวกเขาในหลาย ๆ เรื่อง เช่น “อยากยืดเวลาวันหมดอายุให้นานกว่านี้” “อยากตัดผลไม้ให้มีขนาดเท่ากันด้วยเครื่องอัตโนมัติ” “อยากเพิ่มความสามารถในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ” เป็นต้น

หลังจากนั้นเราจะนำสิ่งที่เราได้รับฟังมาแจ้งให้ทางบริษัทญี่ปุ่นทราบพร้อมกับมองหาบริษัทญี่ปุ่นที่จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุด สุดท้ายจึงให้พวกเขาจับคู่กันครับ แม้ว่าเราจะเพิ่งเริ่มการให้คำปรึกษามาเป็นเวลาเพียงแค่ 2 ปี แต่จำนวนการทำสัญญานั้นกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเราช่วยแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในเรื่องทีประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง จึงอาจพูดได้ว่านี่เป็นรูปแบบการให้คำแนะนำที่ไม่เหมือนใครของTokyo SME ที่ทำให้หลายบริษัทไว้วางใจ

หลังจากนี้คาดว่าจะนำวิธีการแก้ไขปัญหาของทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการและให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซียต่อไปด้วยครับ

ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ “ท้าทาย” มากเลยนะครับ

ใช่ครับ ผมได้รับมอบหมายให้มาทำงานที่นี่ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานประเทศไทยคนที่ 2 ครับ เนื่องจากที่โตเกียว ผมรับผิดชอบในด้านการให้ความช่วยเหลือกับบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ ผมคิดว่าผมโชคดีมากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งที่สามารถนำประสบการณ์ที่สั่งสมมามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ในต่างประเทศได้จริง ๆ

ตั้งแต่ที่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานที่นี่ก็ผ่านมาปีครึ่งแล้ว

รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมากเลยครับ ผมเริ่มชินกับการใช้ชีวิตในประเทศไทย วันหยุดก็ทำในสิ่งที่ชอบ งานอดิเรกของผมก่อนหน้านี้คือเล่นเทนนิส แต่พอเพื่อนที่เล่นเทนนิสด้วยกันเริ่มชวนไปตีกอล์ฟทำให้ตอนนี้เหมือนจะไปตีกอล์ฟบ่อยกว่าเล่นเทนนิสแล้วครับ งานอดิเรกอีกอย่างคือเล่นกับลูกชายวัย 6 ขวบ ไปเที่ยวกับครอบครัว ส่วนภาษาไทยผมยังไม่ค่อยเก่งสักเท่าไร แต่ยังไงผมก็จะพยายามพูดให้ได้ครับ ไม่อย่างนั้นคนรอบข้างอาจจะลำบากได้ (หัวเราะ)

อุตส่าห์มีโอกาสได้มาใช้ชีวิตที่ต่างประเทศทั้งทีก็ขอเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์อันล้ำค่าเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดครับ

สำนักงาน Tokyo SME ประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ในอาคาร “Interchange 21”เชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก

Share this article.

PAGE TOP