JETRO องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น「เราจะส่งต่อข้อมูลที่เที่ยงตรงและบอกต่อเสียงของทุกคน」Taketani Atsushi

「เราจะส่งต่อข้อมูลที่เที่ยงตรงและบอกต่อเสียงของทุกคน」

《โปรไฟล์》
ผู้อำนวยการ สำนักงานกรุงเทพ
Taketani Atsushi
ทาเคะทานิ อะสึชิ
■ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2510 บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดโอซาก้า หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ในปี พ.ศ.2533 ก็ได้เข้าทำงานที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (ชื่อ ณ ขณะนั้น) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด และทำงานที่สถานทูตญี่ปุ่นในประเทศอเมริกา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2562 จึงได้มาทำงานในตำแหน่งปัจจุบัน
■ คำคมที่ประทับใจ : หากทำทุกสิ่งด้วยความจริงใจ ไม่ว่าอย่างไรก็จะได้รับการยอมรับ
■ บุคคลที่นับถือ : พระพุทธเจ้า คานธีและเหล่าคณะ
■ งานอดิเรก : กีฬาทั่วไป
■ นาฬิกาข้อมือเรือนโปรด : นาฬิกา Burberry ที่ภรรยาให้ตอนแต่งงาน
■ กระเป๋าใบโปรด : กระเป๋า “TUMI” ที่ซื้อตอนมาเริ่มทำงานที่กรุงเทพฯ
■ การใช้เวลาว่างในวันหยุด : ว่ายน้ำ ฝึกตีกอล์ฟ และเดินเล่นในตัวเมืองกรุงเทพฯ


ช่วงนี้มีแต่ข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทุกวันเลยนะครับ

ท่ามกลางสถานการณ์ในตอนนี้ที่การเดินทางไปมาระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะกฎการเดินทางเข้าประเทศที่มีความเข้มงวดมากกว่าเดิม

ในฐานะผู้อำนวยการของเจโทร กรุงเทพฯ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ “การแจ้งข้อมูลที่เที่ยงตรงและรวดเร็ว” ให้ทุกคนได้ทราบ เพื่อไม่ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นหยุดชะงัก

และไม่เพียงแค่แจ้งข้อมูลจากทางเราให้กับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทราบเพียงเท่านั้น แต่เรายังดูด้วยว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเหล่านั้นบ้างจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้ โดยจัดทำแบบสำรวจและส่งต่อผลการสำรวจที่รวบรวมมาให้กับบุคคลสำคัญของประเทศไทย ตั้งแต่ระดับรองนายกรัฐมนตรีและบุคคลในระดับที่ต่ำกว่าโดยตรง ในตอนแรกเราหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ จนเราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป

ทุกวันนี้เราเฝ้าถามตนเองอยู่เสมอว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ รวมไปถึงจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไรหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้วครับ

บทบาทของสำนักงานคืออะไร

เป็นเวลากว่า 65 ปีแล้วนับตั้งแต่การก่อตั้ง แม้ว่าผมเพิ่งจะได้รับมอบหมายให้มาดำรงตำแหน่งนี้ในเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ผมตระหนักได้ว่าญี่ปุ่นมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อรัฐบาลไทยและบุคคลสำคัญในวงการธุรกิจต่าง ๆ ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ นั้น เศรษฐกิจเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว และบทบาทของเราก็ได้เปลี่ยนไปเช่นกัน

ดังที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ บทบาทของเราคือ การส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องและเที่ยงตรง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจของทุกท่านดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น แต่ในปัจจุบันเราต้องเป็นมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม บทบาทที่สำคัญที่สุดของเราก็ยังคงเป็น “การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย” ครับ และเรายังมุ่งเน้นการสร้าง“ความสัมพันธ์แบบ Win-Win” เพื่อให้เศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่นและไทยเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

พูดให้เห็นภาพก็คือ การส่งเสริมการส่งออกของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการประมง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารของญี่ปุ่น การสนับสนุนการขยายธุรกิจ SME ของญี่ปุ่นในต่างประเทศ และการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติในญี่ปุ่นถือเป็นหลักสำคัญของเราครับ

สนับสนุนการรุกเข้าสู่ตลาดของธุรกิจ SME ด้วยความอบอุ่นและเป็นมิตร

ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ญี่ปุ่นก็ยังสนใจตลาดในประเทศไทยอยู่ครับ เรามีการเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทุกวัน หากดูข้อมูลเชิงสถิติแล้ว​ จากการสำรวจล่าสุดในปีพ.ศ. 2560 พบว่ามีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยจำนวน 5,444 บริษัท และในปีพ.ศ. 2562 มีผู้สอบถามเข้ามาหาเราเกี่ยวกับการรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศกว่า 3,117 เคส และมีผู้มาเยี่ยมเยียนที่ศูนย์ให้บริการของเรากว่า 6,296 คน

สำหรับท่านใดที่ยังไม่มีสถานที่สำหรับตั้งสำนักงานในประเทศไทย อย่าลืมมาใช้บริการ “Business Supporter” ของทางเรานะครับ เราสามารถให้คำแนะนำในเรื่องของการเช่าพื้นที่สำนักงานในราคาที่ถูกมากและยังสามารถยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) ไปพร้อมกันได้อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นเรายังได้จัดเตรียมข้อมูลของประเทศไทยไว้มากมายหลายด้านทั้งในเรื่องกฎหมาย การจัดเก็บภาษี การจ้างแรงงาน การดำเนินการด้านศุลกากร นอกจากนี้เรายังจัดเตรียมข้อมูลของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเอาไว้อีกด้วยครับ

ทราบมาว่ามีการจัดโครงการร่วมกันระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยและญี่ปุ่นด้วย

เนื่องจากรัฐบาลไทยต้องการจะพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นโดยเน้นไปที่การท่องเที่ยวและการเกษตร เราจึงได้เริ่มปรึกษากันเกี่ยวกับเรื่องนี้

ที่ประเทศญี่ปุ่นเราใช้คีย์เวิร์ดคำว่า “การฟื้นฟูท้องถิ่น” โดยให้ในแต่ละพื้นที่ทำโปรเจคพัฒนาและริเริ่มสร้างตัวมาสคอต ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เราได้นำมาบอกเล่าในงานสัมมนาเมื่อปีที่แล้ว ต่อจากนี้เราก็อยากจะเชิญผู้เกี่ยวข้องในองค์กรการท่องเที่ยวของไทยไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการในแต่ละพื้นที่

อีกทั้ง เรายังมีแผนจะเชิญบุคคลสำคัญของไทยไปยังญี่ปุ่นเพื่อจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย รวมไปถึงงานสัมมนาเพื่อถ่ายทอดกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจของประเทศไทย ซึ่งเรามีแผนอยากจะจัดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยครับ

ความคาดหวังในตลาดไทยต่อจากนี้…

เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยประสบปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อันมีสาเหตุมาจากสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ กลับยังสามารถขยายสาขาไปยังชานเมืองได้ เราจึงคาดว่าในอนาคตตลาดจะขยายตัวมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์ที่พร้อมรับมือกับการเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทย และอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีทันสมัยตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ก็กำลังเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นด้วยครับ

สำหรับบริษัทญี่ปุ่นแล้ว ประเด็นสำคัญก็คงจะเป็นเรื่อง ‘เราจะนำสิ่งที่มีอยู่มาลงทุนอย่างไรต่อไป’ จากผลงานที่ผ่านมา เราได้วางรากฐานของธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยเอาไว้อย่างมั่นคง และถ้าหากเรานำผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริการต่าง ๆ ที่เราสร้างมาทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจได้ สำหรับเรา สิ่งสำคัญที่สุดคือการรับฟังเสียงของลูกค้าและส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้อยู่เสมอ

ในปี พ.ศ.2563 มาทำงานวันแรกด้วยชุดเครื่องแบบทางการของชายญี่ปุ่น (ฮาโอริ ฮากามะ) “ผมหวังว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว เพื่อที่เราจะได้โปรโมตประเทศญี่ปุ่นต่อไป”

Share this article.

PAGE TOP